Funny game for your mobile

ตำนานหนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้า เรื่องราวความรักที่มาแห่งเทศกาล “ชีซี” ของจีน

      เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ หลายคนคงนึกถึงวันวาเลนไทน์ เทศกาลแห่งความรักของคนทั่วโลก แต่สำหรับคนจีนแล้ว ยังมีอีกวันที่นับว่าเป็นวาเลนไทน์เหมือนกัน


        七夕节 -ชีซีเจี๋ย วันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ถ้าในปฏิทินสากล จะอยู่ในเดือนสิงหาคมของทุกปี นับว่าเป็นเทศกาลแห่งความรักของจีน และหลายประเทศในเอเชีย ทั้งญี่ปุ่น(เทศกาลทานาบาตะ) ฮ่องกง เวียดนาม และเกาหลี


  เทศกาล “ชีซี” หรือเทศกาลแห่งความรักของจีนนั้นมีความเชื่อมโยงกับตำนานเรื่องหนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้า ตำนานดังกล่าวเป็นเรื่องราวความรักอันแสนประทับใจที่เล่าขานกันมาตั้งแต่อดีตกาล จนกลายเป็นหนึ่งในสี่ตำนานความรักพื้นบ้านที่ยิ่งใหญ่ของจีน 
        ซึ่งวันที่ 7 เดือน 7ตามตำนานแล้วเชื่อว่าเป็นวันที่ หนุ่มเลี้ยงวัวนั้นได้กลับมาพบกับสาวทอผ้า ซึ่งจุดกำเนิดของวันที่ว่านั้นก็มาจากตำนานปรัมปราของจีน ในสถานที่ที่ชื่อว่า “ภูเขาเพชร” ว่ากันว่าเป็นจุดที่นางฟ้าลงมาเล่นน้ำ และเป็นเวลาประจวบเหมาะกับ ชายหนุ่มเลี้ยงวัว ชื่อว่า “หนิวหลาง” อยู่บริเวณนั้นพอดี





 ตำนานหนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้า  
牛郎织女的传说

        มีหนุ่มเลี้ยงวัวคนหนึ่งชื่อ “หนิวหลาง” เล่ากันว่าพ่อแม่ของหนุ่มเลี้ยงวัวเสียชีวิตตั้งแต่เขายังเด็ก พี่ชายและพี่สะใภ้ก็ชอบทรมานเขา มีวัวเพียงตัวเดียวที่อยู่เป็นเพื่อน มีอยู่วันหนึ่ง สาวทอผ้าบนสวรรค์ลงมาเที่ยวเล่นกับเพื่อนนางฟ้าบนโลกมนุษย์ นางลงมาเล่นน้ำตรงบริเวณทะเลสาบ 


        และเจ้าวัวก็นำพาให้หนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้าได้รู้จักกัน  วัวของหนิวหลางได้กระซิบบอกวิธี ให้เขาไปขโมยเสื้อผ้าของพวกนางมา แล้วคอยเฝ้าดู เมื่อนางฟ้าทั้งเจ็ดองค์เล่นน้ำเสร็จแล้วหาเสื้อผ้าของตนไม่พบ จึงให้น้องสาวคนสุดท้องชื่อ “จือหนี่” (แปลตรงตัวว่า หญิงทอผ้า) ไปตามหาเสื้อผ้ามาคืนให้พวกพี่ ๆ จนเมื่อรู้ว่าคนที่เอาเสื้อผ้าทั้งหมดไปก็คือ “หนิวหลาง”  นางจึงขอเจรจาเอาเสื้อผ้าคืน แต่ว่า “หนิวหลาง” เองก็มีข้อแลกเปลี่ยนเช่นกัน ซึ่งนั้นก็คือการขอนางแต่งงาน ซึ่งตัวนางเองก็ยินยอม นางฟ้าผู้พี่ทั้งหมดจึงได้กลับคืนสู่สวรรค์ ส่วนจือหนี่ได้อาศัยอยู่กับหนิวหลาง


        ส่วนจือหนี่ นั้นเป็นภรรยาที่ดียิ่ง หนิวหลางรักนางมาก ทั้งสองมีบุตรด้วยกัน 2 คน จือหนี่มีฝีมือในการทอผ้า ผ้าที่นางทอนั้นมีสีสันสวยงามไม่มีผู้ใดทัดเทียมได้ พวกเขานำไปขายได้เงินดีและมีชีวิตที่ดีขึ้น จนเป็นผู้มั่งมีทรัพย์สมบัติ




        แต่ชีวิตรักของทั้งสองมิได้ราบรื่นเสียทีเดียว เมื่อเง็กเซียนฮ่องเต้ผู้เป็นบิดามารดาของเหล่านางฟ้าทั้งเจ็ด เมื่อได้ทราบว่าบุตรสาวของตนไปแต่งงานกับคนธรรมดาก็โกรธมาก ออกคำสั่งให้จือหนี่กลับสู่สวรรค์ ฝ่ายหนิวหลางเมื่อกลับมาพบภรรยาของตนหายตัวไปก็เศร้าโศกเสียใจอย่างยิ่ง
        ทันใดนั้นวัวของหนิวหลาง ก็เอ่ยคำพูดออกมาอีกครั้ง วัวพูดขึ้นมาว่า
" ฆ่าฉันเสียเถอะ หนิวหลาง เธอจะได้เอาหนังของฉันคลุมร่าง แล้วขึ้นสวรรค์ไปตามหา จือหนี่ ได้ "
หนิวหลางจำต้องฆ่าวัวด้วยน้ำตา ครั้นเมื่อเอาหนังมาคลุมร่างเขากับบุตรทั้งสองก็เหาะไปยังแดนสวรรค์ตามหาจือหนี่


    ครั้นเมื่อเง็กเซียนและฮองเฮาพบพวกเขาขึ้นมาบนสวรรค์ก็โกรธอีก ฮองเฮาก็ดึงปิ่นปักผมของนางออกมาแล้วกรีดท้องฟ้าออกกลายเป็นแม่น้ำกว้าง กั้นขวางทั้งคู่ออกจากกัน ทำให้คู่รักทั้งสองต้องแยกจากกันตลอดกาล (ส่วนแม่น้ำนั้นบนโลกนั้นก็เป็นที่มาของ ทางช้างเผือก นั่นเอง)


        และเมื่อมีแม่น้ำมาขัดขวางความรักทำให้ทั้งสองต่างต้องทำหน้าที่ของตัวเองไปอย่างไร้ทางเลือก โดยตัวของ จือหนี่เองก็ต้องทอผ้าไปด้วยใจที่สิ้นหวัง ส่วน หนิวหลาง ก็ทำได้แค่เพียงดูแลลูกน้อยทั้งสองของตนกับ จือหนี่ไป และรอคอยวันที่จะกลับมาพบกันใหม่ วันนั้นก็คือวันที่เหล่านกกระเรียนจะมารวมตัวกันเป็นสะพานเพื่อนำพาให้ทั้งสองคนมาพบเจอกัน ซึ่งสะพานนั้นมีชื่อว่า Que Qiao (ฉิวเฉียน) หรือสะพานนกกระเรียนอันเป็นสะพานที่ทอดข้ามในกลุ่มดาวหงส์ ทำให้ “จือหนี่” และ “หนิวหลาง” นั้นสามารถเดินทางมาพบกันได้แม้แค่เพียงปีละครั้งเท่านั้น


        ซึ่งก็คือวันที่ 7 เดือน 7 และเล่ากันว่าถ้าวันนั้นเป็นวันที่มีฝนตก นั่นจะแสดงว่าฝนนั้นจะเป็นตัวแทนของน้ำตา ของทั้ง “จือหนี่” และ “หนิวหลาง” นั่นเอง

ชาวจีนนิยมให้ของขวัญรูปหัวใจในวันปห่งความรัก


        เทศกาลชีซีเจี๋ย มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น ถูกขึ้นทะเบียนเป็น 1 ในมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของชาติจีน มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับความรู้ด้านดาราศาสตร์ของคนจีนโบราณอีกด้วย ในวันขึ้น 7 ค่ำเดือน 7 ในฤดูใบไม้ร่วง ท้องฟ้าแจ่มใสไร้เมฆบัง เราจะเห็นทางช้างเผือกทอดตัวยาวจากทิศเหนือจรดทิศใต้ มีดาวฤกษ์ 2 ดวงสว่างสุกใสอยู่คนละด้านของทางช้างเผือก คือดาวเวก้า (Vega) ตัวแทนของจือหนี่ว์ และดาวอัลแทร์ (Altair) ตัวแทนของหนิวหลาง

ติดตามคลิปเสียงได้ที่นี่




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้