Funny game for your mobile

ตามรอยนางพันธุรัต แห่งตำนานสังข์ทอง เทือกเขานางยักษ์




        เทือกเขาเจ้าลาย (เขานางพันธุรัต) มีเนื้อที่ประมาณ 1,562 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศทั่วไปของพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาหินปูนที่มีลักษณะทางภูมิทัศน์สวยงามและมีเอกลักษณ์ มองจากด้านชายฝั่งทะเล จะมีลักษณะคล้ายผู้หญิงนอนหงาย ทอดยาวตามแนวทิศเหนือ – ใต้ โดยมีศีรษะอยู่ด้านทิศใต้ ติดกับเขามันหมู ส่วนด้านบนสุดของเทือกเขา จะมีแท่งหินขนาดใหญ่ยื่นออกมา เรียกว่า “โกศนางพันธุรัตน์” ปัจจุบันได้เกิดการพังถล่มลงมาตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2537



นางพันธุรัต กับตำนานสังข์ทอง
        ตามตำนานของชาวเพชรได้กล่าวถึง “เขาใหญ่” ซึ่งมีเทือกเขายาวเป็นแนวสลับซับซ้อนโดยเมื่อมองจากทะเลจะเห็นเขาลูกนี้คล้ายกับคนนอนทอดยาวใส่หมวกกุ้ยโล้ย หันหัวไปทางทิศใต้คล้ายรูปนางยักษ์นอนตาย ในยามดวงอาทิตย์อัศดงแสงสะท้อนกระทบไหล่เขาดูสวยงามยิ่งนักและภูเขาลูกนี้ ยังมีตำนานทางวรรณคดีเรื่องสังข์ทอง ซึ่งมีอยู่ 9 ตอน และได้กล่าวถึงนางพันธุรัตน์ในตอนที่ 3 คือตอนนางพันธุรัตน์เลี้ยงพระสังข์และตอนที่ 4 คือพระสังข์หนีนางพันธุรัตน์ ด้วยชื่อเสียงของตำนานเรื่องเล่า บวกกับวิธีการที่คนในท้องที่มักจะเอาตำนานการเกิด ภูเขาท้องถิ่นมาเล่าให้จดจำได้ขึ้นใจ เขานางพันธุรัต ก็ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อ ในเขตของอุทยานเขานางพันธุรัตน์ 

โดยตามตำนานเมืองเพชรนั้น ได้กล่าวไว้ว่านางพันธุรัตน์ได้มาเสียชีวิตที่นี่หลังจากที่อ้อนวอนให้พระสังข์ลงมาจากยอดเขาเท่าไรๆ ก็ไม่สำเร็จกระทั่งตรอมใจตาย จึงจัดการทำศพที่นี่ชาวบ้านจึงเรียกเขาลูกนี้ว่า “เขานางพันธุรัตน์” สืบต่อมาจนเท่าทุกวันนี้

      

        นางพันธุรัตมีชื่อในวรรณคดีไทยเรื่องสังข์ทอง โดยนางพันธุรัตเป็นยักษ์ ได้รับพระสังข์มาเป็นบุตรบุญธรรมโดยนางและบริวารแปลงร่างเป็นมนุษย์ วันหนึ่งพระสังข์ได้เข้าไปในเขตหวงห้ามลงไปชุบตัวในบ่อทองเอาชุดเจ้าเงาะและของวิเศษเหาะหนี นางพันธุรัตกลับมาไม่พบพระสังข์ก็ออกตาม นางพยายามอ้อนวอนให้พระสังข์กลับ แต่ไม่เป็นผล นางพันธุรัตเสียใจจนอกแตกตาย ตามตำนานเมืองเพชร พอนางพันธุรัตตาย พระสังข์ก็ได้จัดการทำศพและร่างของนางก็ได้กลายเป็นภูเขา ชาวบ้านจึงเรียกภูเขาลูกนี้ว่า เขานางนอน หรือเขานางพันธุรัต จนทุกวันนี้

        การที่วรรณกรรมเรื่องสังข์ทองได้ฝังลึกอยู่ในจิตใจของชาวบ้านจนทำให้คนเหล่านั้นเชื่ออย่างจริงจังว่าเป็นเรื่องจริงถึงกับมีพยานหลักฐานอ้างอิงเป็นสถานที่นั้น  เป็นไปได้มากว่าวรรณกรรมเรื่องนี้
มีอายุเก่าแก่มากพอสมควร โดยผู้ที่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง ทั้งนี้น่าจะมาจากเป็นวรรณคดีเก่าสมัย รัชกาลที่ 2 และพูดกันมารุ่นต่อรุ่น และความนิยมเรื่องสังข์ทองนี้ ได้แพร่ไปแทบทุกภาคของประเทศไทย

        ด้วยรูปร่างของเทือกเขานางพันธุรัตที่ดูคล้ายผู้หญิงนอนหงาย ทำให้กลายเป็นตำนานที่มีความคล้องจองกับวรรณคดีไทยเรื่องสังข์ทองในหลายจุด ทำให้ผู้คนเชื่อว่า ภูเขาแห่งนี้เป็นต้นกำเนิดวรรณคดีเรื่องสังข์ทอง ใครผ่านไปผ่านมาย่อมไม่พลาดที่อยากจะมา
เที่ยวที่แห่งนี้ "วนอุทยานเขานางพันธุรัต" จังหวัดเพชรบุรี
อย่างไรก็ดี ตำนานเขานางพันธุรัตนี้เป็นเรื่องเล่าที่คนเมืองเพชรรู้จักกันดี แต่ในอีกท้องที่หนึ่ง เขายี้ก็มีชื่อเรียกว่า เขาเจ้าลายซึ่งเจ้าลายนี้ ก็คือบุคคลในนิทานพื้นบ้านของตำนาน เขาตาม่องล่าย จ.ประจวบคีรีขันธ์ 

จุดเชื่อมโยง
เขานางพันธุรัต ยังมีอยู่อีกมาก และจุดเหล่านี้ก็ยังหนึ่งในจุดที่พูดถึงกันเมื่อมาเที่ยวเขาแห่งนี้ นั่นคือ"กระจกนางพันธุรัต"




กระจกนางพันธุรัตน์

    จุดแรกที่นักท่องเที่ยวมักจะเดินขึ้นไปเยี่ยมชมก็คือ กระจกนางพันธุรัต เนื่องจากจุดนี้อยู่ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวประมาณ 80 เมตรเท่านั้น เดินทางไปมาแสนสะดวก เพราะได้มีการจัดทำบันไดไว้อย่างดี

        ตามตำนานเล่าว่าในจุดนี้เป็นจุดที่นางพันธุรัตน์เอาไว้ส่องกระจก เพื่อตรวจดูความเรียบร้อยของตนก่อนที่จะไปพบกับพระสังข์ ว่านางมีร่องรอยของความเป็นยักษ์ อย่างคราบเลือดจากการออกไปหาสัตว์ป่ากินหรือไม่

ลักษณะของกระจกนางพันธุรัตน์จะเป็นช่องเขาขนาดใหญ่ กว้างประมาณหนึ่งเมตร สูงประมาณ 2.5 เมตร เราสามารถจะเดินลอดช่องกระจกนี้ไปได้ และจะพบกับจุดชมวิวเล็กๆ เป็นจุดชมวิวและจุดถ่ายรูปจากที่สูง ทั้งยังมองเห็นพื้นที่ในวนอุทยานได้อย่างชัดเจน  อีกทั้งยังมองเห็นทุ่งนาของชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย




บ่อชุบตัวพระสังข์

        อีกสถานที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับในวรรณคดีนั่นคือ “บ่อชุบตัวพระสังข์” ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระสังข์มาชุบตัวในบ่อทองตามตำนาน บริเวณนี้มีลักษณะเป็นหลุมขนาดใหญ่ กว้างประมาณหนึ่งสนามฟุตบอล ลึกลงไปหลายสิบเมตร เบื้องหน้ามีแนวผาหินล้อมรอบหลุม ส่วนเบื้องล่างเขียวชอุ่มไปด้วยพรรณไม้นานาชนิดที่ขึ้นอยู่เต็มไปหมด ใครที่คิดว่าจะมาโกยทองอย่างในวรรณคดี เห็นที่ต้องผิดหวัง แต่ถ้าเป็นบ่อทองจริงๆ ป่านนี้คงพังไปนานแล้วไม่มีเหลือสภาพเขียวชะอุ่มมาให้เราเห็นอยู่จนทุกวันนี้ ส่วนในภาพเป็นสถานที่อ้างอิงเป็นบ่อจำลองในวนอุทยาน

ในบริเวณนี้นอกจากจะมีบ่อชุบตัวพระสังข์แล้ว ยังมีจุดชมวิวอีก 2 จุดด้วยกัน จุดแรกอยู่ห่างจากบ่อชุบตัวพระสังข์ไปอีกประมาณ 50 เมตร ซึ่งเป็นจุดที่สามารถมองเห็นทะเลได้ แต่ไม่มาก เพราะเป็นช่องระหว่างยอดเขาสองยอดจึงทำให้มองวิวได้ไม่กว้างมากนัก

ถัดขึ้นไปอีกไม่ไกลซักเท่าไหร่ ก็ยังมีจุดชมวิวอีกจุดหนึ่งที่มีความสวยงามเช่นกัน เป็นจุดที่อยู่บนยอดเขายอดหนึ่งในเทือกเขานางพันธุรัตแห่งนี้




คอกช้าง

        ที่มาของชื่อ “คอกช้าง” หรือ 
“จุดชมวิวคอกช้าง” แห่งนี้ เนื่องมาจากในอดีตบริเวณด้านล่างของจุดชมวิวแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของเหล่าบรรดาช้างป่า นอกจากสภาพป่าที่หนาแน่นด้านล่างแล้ว เรายังสามารถมองวิวได้อย่างเต็มที่ถึงแม้ว่ามุมนี้จะไม่สามารถมองเห็นทะเลก็ตาม แต่สามารถที่จะมองเห็นได้ไกลถึงเขาวังทีเดียว หากสภาพท้องฟ้าดีๆ อีกทั้งยังเป็นมุมมองที่กว้างเกือบ 180 องศา ซึ่งในจุดนี้ยังสอดคล้องกับเรื่องสังข์ทองที่ว่า เมื่อนางพันธุรัตได้ออกล่าสัตว์มาเป็นอาหารอย่างสนุกสนาน ช้างป่าที่อาศัยบริเวณนี้จึงตกเป็นอาหารของนางนั่นเอง




ลานเกือกแก้ว

        ในวรรณคดีเมื่อพระสังข์กลับลงมาจากบ่อต้องห้ามแล้ว ก็ได้เดินสำรวจในบริเวณปราสาทต่อ ได้พบกับรูปเงาะ เกือกแก้ว และไม้เท้า พอลองสวมดูก็เห็นว่าเข้าท่าดี อีกทั้งเกือกแก้วยังสามารถใช้เหาะเหินเดินอากาศได้ด้วย จึงคิดวางแผนที่จะหลบหนีจากนางพันธุรัตน์เพื่อกลับไปหาตายายและพระนางจันเทวีที่เป็นแม่อีกครั้งด้วยความคิดถึง

สำหรับลานเกือกแก้วแห่งนี้เป็นลานกว้างระหว่างทางไปยังบ่อชุบตัว คอกช้าง และจุดท่องเที่ยวจุดอื่นๆ อีก มีลักษณะเป็นลานกว้าง ประมาณ 3 ไร่ เป็นที่ราบระหว่างเขา มีต้นไม้ขึ้นอยู่ไม่มากนักส่วนต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ก็มีขนาดที่ไม่ใหญ่มากนัก บางต้นยังเป็นลูกไม้ด้วยซ้ำ

สาเหตุที่เรียกว่าลานเกือกแก้ว เนื่องจากพื้นที่ในบริเวณนี้มีลักษณะรูปร่างคล้ายกับรองเท้าของผู้หญิง จึงได้ชื่อว่าลานเกือกแก้ว ซึ่งพ้องกับเนื้อเรื่องในวรรณคดีเรื่องนี้ด้วย




ต้นไทรยักษ์

        ตามตำนานหลังจากที่พระสังข์เหาะหนีออกมาจากปราสาทแล้วก็มาแวะพักอยู่ใต้ต้นไทร ด้วยความเหน็ดเหนื่อย ซึ่งเชื่อกันว่าต้นไทรยักษ์เก่าแก่ภายในอุทยานต้นนี้ คือต้นไทรต้นเดียวกันกับในวรรณคดี ซึ่งตามท้องเรื่องเมื่อนางพันธุรัตน์กลับมาถึงพอสอบถามบริวารก็ได้รับคำตอบว่าพระสังข์หนีไปแล้ว นางเศร้าเสียใจเป็นอย่างมากรีบพาบริวารออกตามหาพระสังข์

จนกระทั่งนางพันธุรัตน์ผ่านต้นไทรก็จำได้ว่าเป็นพระสังข์ จึงร้องเรียกพระสังข์ด้วยความยินดีให้พระสังข์ลงมาหา แต่พระสังข์ไม่ยอม ไม่ว่านางพันธุรัตน์จะอ้อนวอนอย่างไร จนเห็นว่าพระสังข์คงจะไม่ลงมาแน่นอนแล้ว จึงเขียนมหาจินดามนต์ไว้ให้ ระหว่างที่เขียนมนต์ก็ร้องอ้อนวอนพระสังข์ไปด้วย ถึงแม้ว่าจะเขียนจนเสร็จเรียบร้อยแล้วพระสังข์ก็ยังไม่ยอมลงมา ในที่สุดนางก็อกแตกตาย





โบราณสถานทุ่งเศรษฐี

        นอกจากแหล่งท่องเที่ยวตามรอยวรรณคดีแล้ว เทือกเขานางพันธุรัตน์ยังมีโบราณสถานทุ่งเศรษฐี ตั้งอยู่เชิงเขาจอมปราสาทด้านทิศตะวันออก กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งและบูรณะ ทำให้ทราบรูปแบบของโบราณสถานทุ่งเศรษฐี ว่าเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ก่ออิฐสอดินฉาบปูนเหลือเพียงส่วนฐานและค้นพบโบราณวัตถุ จำพวกปูนปั้นและโบราณวัตถุอื่นๆอีกมาก 




การเดินทาง

        สำหรับนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพที่สนใจและอยากจะเดินทางไปท่องเที่ยวตามรอยพระสังข์ ก็สามารถทำได้ไม่ยาก ถ้าเดินจากจากกรุงเทพไม่ไกลเลย นั่งรถประมาณ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น  สามารถเดินทางได้ 2 เส้นทางด้วยกัน

        เส้นทางแรก คือ จากถนนเพชรเกษม ผ่านวัดนิคมวชิราราม เข้าสู่ถนนสายนิคม (เขื่อนเพชร) - บ้านหนองตาพด ถึงพื้นที่โครงการก็เป็นระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร 
        หรืออีกเส้นทางหนึ่งเมื่อเลยแยกบายพาสชะอำ ก่อนเข้าอำเภอชะอำประมาณ 2 กิโลเมตร จะผ่านทางเข้าบริษัทชลประทานซีเมนต์ จำกัด (มหาชน) ให้เลี้ยวเข้าไป ขับตามทางไปอีกไม่ไกลก็จะถึงวนอุทยานเขานางพันธุรัตน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้