Funny game for your mobile

ตำนานพญาคันคาก พิพิธภัณฑ์พญาคันคาก ยโสธร

 


        ใครไปยโสธร ถ้าพบเห็นคางคกสีแดงๆขนาดใหญ่ นั่งอยู่บนเกาะต้องหันมามองด้วยความใหญ่เตะตา แม้พายเรืออยู่ไกลๆยังมองเห็นพญาคางคกตัวใหญ่เบื้อเริ่มที่ตั้งโดดเด่นได้สบาย เมื่อเวลามองดูมันหันหน้าออกไปทางฝั่งริมน้ำ ยิ่งรู้สึกเหมือนคางคกยักษ์กำลังจ้องคอยเขมือบเหยือที่ผ่านไปมา ถึงภายนอกจะเป็นรูปปั้นขนาดใหญ่ แต่ภายในนั้นกลับเป็นพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจยิ่ง พิพิธภัณฑ์ที่ว่านี้คือพิพิธภัณฑ์พญาคันคาก ตั้งอยู่ในสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติของอำเภอเมืองยโสธร (สวนสาธารณะพญาแถน) อำเภอเมือง ของจังหวัดยโสธร ริมอ่างเก็บน้ำลำทวน ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เล่าถึงตำนานพื้นเมืองของชาวอีสาน เกี่ยวกับตำนาน พญาคางคก และประเพณีบุญบั้งไฟ

      โดย "พิพิธภัณฑ์พญาคันคาก" ภายในเป็นอาคารศูนย์การเรียนรู้ด้านชีววิทยาและระบบนิเวศน์ของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และนิทรรศการความเชื่อกับประเพณีท้องถิ่นของจังหวัดยโสธร ถือเป็นพิพิธภัณฑ์แรกใน 3 พิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับประเพณีบุญบั้งไฟที่ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างก่อน โดยพิพิธภัณฑ์ที่เหลือคือ พิพิธภัณฑ์พญาแถน และพิพิธภัณฑ์พญานาคตามลำดับ ซึ่งตามตำนานและเรื่องเล่าไว้ว่า "พญาคันคาก" เป็นโอรสของกษัตริย์แต่มีผิวพรรณเหมือนคางคก ซึ่งภาษาอีสานเรียกว่า "คันคาก" แต่ด้วยมีบุญญาธิการมากจึงได้รับการช่วยเหลือจากพระอินทร์ รวมทั้งเป็นที่นับถือของชาวบ้าน ซึ่งตามตำนานชาวอีสานเชื่อว่าโลกมีโลกมนุษย์และโลกเทวดา โดยโลกมนุษย์อยู่ใต้โลกเทวดา และเรียกเทวดาว่า "แถน" ส่วนฟ้าฝนหรือลมนั้นเป็นอิทธิพลของแถน การที่พญาแถนไม่ปล่อยฝนให้ตกลงบนโลกมนุษย์ทำให้พญาคันคาก อาสานำสัตว์ต่าง ๆ เช่น ช้าง, ม้า, วัว, ควาย, ปลวก, ผึ้ง และต่อแตน ขึ้นไปรบกับพญาแถนจนชนะ และปล่อยให้ฝนตกตามเดิม แต่มีข้อแม้ว่าต้องจุดบั้งไฟขึ้นไปบอกกล่าวทุกปี จนกลายมาเป็นที่มาของประเพณีบั้งไฟในปัจจุบัน
ประติมากรรมพญานาคตั้งอยู่ในวิมานพญาแถนซึ่งอยู่ไม่ไกล

    นอกจากนี้แล้ว ที่นี่ยังเป็นสถานที่รวบรวมของดีทางด้านเกษตรกรรมของเมืองยโสธรไว้ภายในพิพิธภัณฑ์ รวมถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอื่น ๆ เกี่ยวกับจังหวัดยโสธรอีกด้วยเช่น จังหวัดยโสธรเป็นจังหวัดที่เกิดขึ้นก่อนจังหวัดอื่น ๆ ในอีสานใต้ ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีชื่อว่า "ยศโสธร" ก่อนย่อเป็นยโสธร หรือเป็นจังหวัดที่มีข้าวหอมมะลิอร่อยที่สุดในประเทศไทย และอีกหนึ่งนัย คือ จากตำนานบอกเล่าเกี่ยวกับเรื่องการเกษตร, วัฒนธรรม และความหลากหลายทางชีวภาพอีกด้วย

 



ภายในเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ แหล่งรวบรวมคางคกเอาไว้เพื่อการศึกษา

นอกจากนั้นยังมี แหล่งความรู้บั้งไฟ ของดีที่ที่สร้างชื่อให้ชาวยโสธร

ตำนานพญาคันคาก :

       พญาคันคากนั้นเป็นโอรสของกษัตริย์แต่มีผิวพรรณเหมือนคางคก ซึ่งภาษาอีสานเรียกว่า "คันคาก" ส่วนพญาแถนท่านเป็นเทวา เทพเจ้าแห่งฝน โกรธเคืองโลกมนุษย์มาก จึงแกล้งไม่ให้ฝนตกยาวนานถึง 7 เดือน สร้างความเดือดร้อนให้ทั่วทุกสารทิศ ทั้งมนุษย์ และสัตว์ต่างพากันล้มตายเป็นจำนวนมาก ต่อไปเป็นเรื่องราว พญาคันคากที่ปรับปรุงแก้ไขจากบทประพันธ์ภาษาท้องถิ่นเพื่อให้อ่านเข้าใจได้ง่าย

      คันคากเป็นราชาปกครองโลกมนุษย์

         ตำนานพญาคันคากเป็นเรื่องเล่าพื้นบ้านของชาวอีสานมาอย่างยาวนาน โดยเรื่องมีอยู่ว่า พญาคันคาก เป็นราชาครองเมืองชมพู บรรดาบ้านเมืองบริวารใหญ่น้อย พร้อมใจกันบังคมก้มให้พญาคันคากถ้วนทั่วทุกหัวระแหง จนลืมส่งสการ ไหว้ฟ้าพญาแถนเหมือนแต่ก่อน หรือหลงลืมเซ่นไหว้สักการะ พญาแถนนั่นเอง …ผีฟ้า “พญาแถน” เป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่แดนสวรรค์ ครั้นเมื่อฝูงคนทั้งหลายไปภักดีต่อ พญาคันคากหมดสิ้น  พญาแถนจึงโกรธ ทำให้ไม่ส่งน้ำฟ้าน้ำฝนหล่นลงมาให้บ้านเมืองแว่นแคว้นใหญ่น้อย จนเกิดความแห้งแล้งทุกหย่อมหญ้าแสนสาหัส

        พญาคันคากเห็นความทุกข์ยากของไพร่พลและชาวบ้าน ก็มุดลงไปเมืองบาดาลนาค แล้วไต่ถามความนัยว่าเหตุใดจึงเกิดภัยแล้ง น้ำแห้งมานานปี …พญานาคจอมบาดาล จึงบอกเหตุว่า "เพราะผีฟ้าพญาแถนไม่ให้นาคทั้งหลายขึ้นไปเล่นน้ำบนสวรรค์เหมือนแต่ก่อน น้ำเลยไม่แตก ฉานซ่านกระเซ็นกระเด็นกระดอนเป็นฝนฝอยหล่นลงมาเลี้ยงโลกมนุษย์ เมืองชมพูและบริวารเลยยากแค้นแสนกันดาร ด้วยพญาแถน ท่านเคืองรำคาญผู้คนที่ไม่ไปไหว้สักการะท่านเลย มัวแต่ไปกราบไหว้พญาคันคากที่เป็นเพียงมนุษย์ปุถุชน" …พญาคันคากรู้ความตามจริงก็ยิ่งโกรธ ยิ่งพิโรธนัก สั่งให้พญานาคผู้เป็นเมืองบริวารทำทางถนนจากเมืองชมพูขึ้นไปเมืองแถนแดนสวรรค์

คางคกยกรบ
        พญานาคพร้อมนาคบริวาร พากันแผ่พังพานขดตัว แล้วขดตัวรัดขุนเขาทุกเขตแคว้นแดนมนุษย์เอามาไว้แน่นจนมากองรวมกัน บรรดาปลวกก็ระดมขนดินมาถมพอกภูเขาให้เป็นทางถนนมุ่งสู่เมืองแถนในทันที …ฝูงพญานาคครุฑยุดพญานาคมาพร้อมกัน ทั้งฝูงต่อ ฝูงแตน และผึ้ง มอด มด ทั้งหมดก็มาพร้อมเพรียงกัน อีกทั้งฝูงสัตว์ป่าพวก เสือสิงห์ กระทิง แรด  ต่างมาชุมนุมพร้อมเพรียงกัน  พญาคันคากก็สั่งให้เคลื่อนขบวน ไพร่พลสัตว์ไปตามทางถนน แต่ละตัวต่างเดินเป็นระเบียบ เป็นเส้นตรง มุ่งขึ้นไปเมืองแถนแดนสวรรค์ชั้นฟ้า

พญานาคกับพญาแถนรบรากันสนั่นหวั่นไหวคล้ายเสียงฟ้าร้อง จนกระทั่ง พญาแถนยกมือขึ้นบังคมพนมไหว้ยอมแพ้ ขอเป็นเมืองส่วยสุจริตแต่งน้ำฟ้า หาฝนหล่นลงเมืองมนุษย์ทุกปี แล้วร้องเชิญพญาคันคากเข้าเมืองแถน

คันคากอบรมแถน
        ในเมืองหลวงเมืองแถน บรรดาบริวารพญาแถนทั้งลูก เมียและนางท้าวร้องขอต่อพญาคันคากที่ปกครองเมืองแถนว่า "อย่าพิฆาตฟาดฟัน ข่มเหงทำร้ายชาวแถนเลย ตนจะยอมเป็นข้ารับใช้ไปชั่วนิรันดร"

        พญาคันคากผู้เมตตา เจรจาว่ากล่าวขอพญาแถนให้ประพฤติในศีลในธรรม สั่งให้เอาใจใส่ดูแลทั้งชาวแถนและชาวมนุษย์ และกล่าวอีกด้วยว่า  "ด้วยโลกใบนี้มีทั้ง ดิน หญ้าและฟ้าแถน ทั้งหมดต่างพึ่งพาอาศัยกัน มั่นคง จึงจะดำรงอยู่ได้  ถึงฤดูเดือนปีที่นาคต้องขึ้นมาเล่นน้ำบนฟ้าก็อย่าห้ามปรามเลย เพราะนาคจะได้พ่นน้ำกระแทกคลื่น ละองน้ำก็จะกลายเป็นฝอยฝน ไปชุบเลี้ยงหมู่มนุษย์ ให้ทำไร่ไถนา ได้พืชพันธุ์ว่านยาอาหารอุดมสมบูรณ์ ถ้าไม่มีน้ำฟ้าน้ำฝน คนในเมืองมนุษย์ก็ลำบาก  เมื่อไม่มีพืชพันธุ์อาหารเลี้ยงชีพแล้ว จะเอาอะไรมาส่งมาสักการะสังเวยให้พญาแถนบนฟ้าได้ แถนฟ้าก็จะต้องอดด้วยเช่นกัน   นอกจากคนทั้งหลายแล้ว ในเมืองมนุษย์ยังมีพืชและสัตว์ ต้องอาศัยน้ำฝนจากเมืองแถน ถ้าขาดแคลนน้ำแล้ว ทุกชีวิต ทั้งสัตว์และพืชต่างเดือดร้อน  เราเองพญาคันคาก เป็น คางคกสัตว์ไม่มีขน ยังต้องดูแลเผื่อแผ่เกื้อหนุนฝูงมนุษย์ พี่น้องเราทั้งหมดก็ล้วนเป็นสัตว์น้อยๆที่พิทักษ์รักษาผู้คนให้มีความสุขอุดมสมบูรณ์เสมอกัน ท่านซึ่งเป็นพญาแถนควรจดจำเป็นเยี่ยงอย่าง อย่าเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน พญาแถนฟ้าต้องรักษาหน้าที่ปล่อยน้ำฝนให้ตกต้องตามฤดู ไม่อย่างนั้นเราจะขึ้นมาลงโทษอีก" 

พญาแถนถามว่า "จะรู้ได้อย่างไรว่าเมืองมนุษย์ต้องการน้ำตอนไหน เมื่อไร"

        พญาคันคากตอบว่า"ข่อยจะส่งสัญญาณให้ พญานาคขี่บั้งไฟ ขึ้นมาโดยเร็ว เมื่อได้ยินเสียงแล้วมองเห็นบั้งไฟมีหัวพญานาค ก็ให้ไขน้ำทำฝนหล่นลงเมืองมนุษย์ทันที"

        พญาแถนน้อมรับคำสั่งสอนของพญาคันคากทุกอย่าง แล้วสั่งให้ไพร่พลลูกเมียเตรียมสำรับกับข้าวเลี้ยงดูกองทัพ พญาคันคากไม่รู้จักข้าว เลยถามว่ามันคืออะไร …พญาแถนบอกว่า"เมืองฟ้าเมืองแถนมีข้าวปลูกไว้กินเป็นข้าวหอมอร่อยมาก"  พญาคันคากเลยสั่งให้พญาแถนเอาข้าวลงไปปลูกในเมืองมนุษย์ รวงข้างให้ยาวแค่วา เมล็ดข้าวเท่ามะพร้าว ต้นข้าวเท่าลำตาลก็พอแล้ว …พญาแถนก็รับคำ แล้วบอกเพิ่มเติมว่า "ข้าวพวกนี้เมื่อโตเต็มที่เมล็ดข้าวจะหล่นจากรวงเอง แล้วจะแล่นไปเข้ายุ้งฉางเอง ขอให้มนุษย์ทำ ยุ้งฉางเยียข้าว (หรือยุ้งฉางข้าวที่เราคุ้นเคยกัน) คอยไว้เท่านั้น …เมื่อสำเร็จเสร็จสรรพแล้ว พญาคันคากก็พาสารพัดสัตว์ ไพร่พลทั้งหลาย ลงจากเมืองแถนแดนสวรรค์ กลับสู่แดนดินเมืองชมพูตามเส้นทางเดิมที่ปลวกทำไว้"

คนทำลายโลกมนุษย์
        ครั้นเมื่อถึงเวลาพญาคันคากละร่างคางคก สิ้นอายุขัยสวรรคตแล้ว ก็เกิดเหตุประหลาด ผู้คนในชมพูทวีปต่างกลายเป็นคนประมาท ขาดสำรวม แล้วยังมีนิสัยเกียจคร้าน เนื่องด้วยเหตุเพราะความสะดวกสบายที่พญาแถนมอบให้มาช้านาน ผู้คนลืมทำยุ้งฉางข้าวให้พร้อมเสร็จทันเวลาที่กำหนด เมื่อเมล็ดข้าวสุก จึงหล่นเรี่ยราดตามนาไร่ เมื่อข้าวไม่มีที่อยู่ก็บินไปที่บ้านเรือนของผู้คน พวกเขาเห็นก็พากันเอาพร้า มีดขวานโขกสับเมล็ดข้าวจนปี้ปนแตกตัดกระจัดกระจาย เหลือเมล็ดเท่ากรวดทรายกระจิริดตั้งแต่นั้นมา

      ส่วนทางถนนที่ปลวกทำไว้ให้พญาคันคากขึ้นไปหาฟ้าแถน แต่ก่อนยังมีเครือเขาเกี่ยวพันกันแน่นหนา ถาวร ผู้คนสัญจรไปมา พญาแถนก็พบว่า มนุษย์ไม่ซื่อตรง ล้วนลุ่มหลงแต่ความสบาย ขี้เกียจ แถมยังเห็นแก่ตัว เบียดเบียนกันเองไม่เกรงใคร บ้านไหนเป็นใหญ่กว่าก็ข่มเหงรังแกผู้น้อย  พญาแถนก็ก่งศรยิงธนูสู่ทางถนนเครือเขากาด หนทางที่ปลวกของพญาคันคากสร้างไว้จน ขาดสะบั้น ถล่มทลาย เป็นภูดอยน้อยใหญ่นับแต่นั้นมา

    ผีฟ้าพญาแถนแห่งสวรรค์ ก็ลงโทษทัณฑ์มนุษย์ทั้งหลายที่เกียจคร้าน ไม่ปลุกพันธุ์ข้าวทิพย์ให้มนุษย์เหมือนแต่ก่อน มนุษย์ต้องหาของในพงป่า ถางไร่ไถนาปลูกข้าวกินเองอย่างอย่างยากลำบากนับแต่นั้น

        เมื่อพญาคันคากจากไป  ฤดูฝนก็ไม่ตกต้องตามฤดูกาล  น้ำฟ้าน้ำฝนขาดตกบกพร่อง แม่น้ำลำคลองเน่าเหม็น  สุมทุมพุ่มไม้ป่าดงพงไพรไม่สวยสมบูรณ์เหมือนแต่ก่อน ทั้งหมดทั้งมวลล้วนมีเหตุจากความประมาทของมนุษย์ตั้งแต่บัดนั้นมาจนบัดนี้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้