Funny game for your mobile

ตำนานป่าคำชะโนด ดินแดนพญานาค

         ตำนาน “คำชะโนด” เมืองพญานาค มีเรื่องเล่าอันลึกลับมานานแสนนาน ไม่ว่าจะมีใครได้พบเห็นพญานาคจริงๆสักกี่คน แต่ ณ.วันนี้มีผู้คนเชื่อมากมายว่าเคยพบพญานาค และเชื่อว่าพญานาคเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากสรวงสวรรค์



        เคยมีเรื่องเล่ากันมานมนานว่า “หนองกระแส” หรือ “หนองแส” ในอดีต ดินแดนที่ตั้งอยู่เหนือขึ้นไปในเขตประเทศลาว คือดินแดน “เมืองพญานาค” ว่ากันว่า มีดินแดนส่วนในโลกมนุษย์มีพญานาค 2 องค์ปกครองอยู่ ฝั่งหนึ่งมี “เจ้าพ่อพญาศรีสุทโธ”  อีกฝั่งอยู่ในอำนาจครอบครองของ “เจ้าพ่อสุวรรณนาค”

        ดินแดนทั้งสองอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข ไม่เคยระรานกัน สามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีอาหารก็แบ่งกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาอย่างยาวนาน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุทะเลาะวิวาท ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่า “ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดออกไปล่าเนื้อหาอาหาร อีกฝ่ายจะต้องไม่ออกไป” อันเป็นกฎข้อบังคับที่สำคัญและเมื่อหาอาหารมาได้ก็แบ่งเป็น 2 ส่วน เอามาแบ่งกันอย่างเท่าเทียม



    แต่แล้วก็เกิดเรื่องขึ้นมาจนได้ อยู่มาวันหนึ่งพญาศรีสุทโธ พาบริวารไพร่พลไปล่า เนื้อหาอาหารและได้ช้างมาเป็นอาหาร จึงแบ่งเนื้อช้างพร้อมด้วยหนังและขนออกเป็นสองส่วน เท่าๆกัน นำไปมอบให้แก่พญาสุวรรณนาคครึ่งหนึ่งตามสัญญาที่มีต่อกัน ต่างฝ่ายต่างก็กินเนื้อช้างกันอย่างเอร็ดอร่อย และอิ่มหนําสําราญเพราะเนื้อช้างมีมาก ต่อมาวันหนึ่งพญาสุวรรณนาคได้พา บริวารไพร่พลออกไปล่าเนื้อหาอาหารได้เม่น จึงแบ่งเนื้อเม่นหนังเม่นและขนเม่นออกเป็นสองส่วน แล้วเอาไปให ้พญาศรีสุทโธแต่ก็มีเนื้อเม่นน้อย ไม่พอที่ จะแบ่งกันกิน พญาศรีสุทโธไม่เคยเห็นว่า เม่นตัวเล็กหรือตัวโตแค่ไหน แต่เมือเอาขนเม่นมาเทียบกับขนช้างแล้วขนเม่นใหญ่กว่าหลายเท่า เมื่อขนใหญ่กว่าตัวก็จะต้องใหญ่กว่าแน่นอน         คิดว่าพญาสุวรรณนาคเล่นไม่ซื่อไม่ปฏิบัติตามสัญญา เวลาตัวเองจับชัางได้ ก็แบ่งเนื้อไปให้กินกันอย่างเหลือเฟือ พอพญาสุวรรณนาคได้เม่นมากลับแบ่งมาให้นิดเดียว ยิ่งคิดก็ยิ่งโกรธ  จึงให้เสนาอำมาตย์ นําเนื้อเม่นที่ได้รับส่วนแบ่งมาครึ่งหนึ่งเอาไปคืน ให้พญาสุวรรณนาคพร้อมกับบอกไปว่า “จะไม่ขอรับส่วนแบ่งที่ไม่เป็นธรรมจากเพื่อนที่ "ไม่ซื่อสัตย์”  

ฝ่ายพญาสุวรรณนาคเมื่อได้ทราบดังนั้นก็ร้อนใจรีบเดินทางไปพบกับพญาศรีสุทโธเพื่อ ชี้แจงให้ทราบว่า เม่นถึงแม้จะมีขนใหญ่โต แต่ตัวของมันเล็กนิดเดียว จะเอาขนไปเทียบหรือเปรียบกับช้างไม่ได้ สัตว์แต่ละชนิดก็มีลักษณะแตกต่างกันไป ขอให้เพื่อนรับเนื้อเม่นไว้กินเป็นอาหารเสียเถิด แต่ไม่ว่าพญาสุวรรณนาคจะพูดว่าอย่างไร พญาศรีสุทโธก็ไม่ยอมเชื่อจึงเกิดอารมณ์โกรธขึ้นมา พญาศรีสุทโธซึ่งเป็นฝ่ายเริ่มก่อน สั่งไพร่พลนาค รุกรบทันที พญาสุวรรณนาคก็ไม่ยอมแพ้ เรียกระดมบริวารไพร่พลเข้าต่อสู้เป็นสามารถ เล่ากันว่า พญานาคท้้งสองฝ่ายรบกันอยู่ นานถึง 7 ปี ต่างฝ่ายต่างเหนื่อยล้า เอาชนะกันไม่ได้ และต่างฝ่ายต่างพยายามจะเอาชนะให้ได้เพื่อจะได้เป็นใหญ่ครองเมืองพญานาคท้้งหมดแต่เพียงผู้เดียว การต่อสู้อย่างเอาเป็นเอาตายระหว่างนาคทั้งสองฝ่ายทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในบริเวณหนองกระแสและบริเวณรอบๆหนองแห่งนั้นเกิดความเดือดร้อนและเสียหายไปมากมาย

        การต่อสู้ถึงขั้นสู้กันเอาเป็นเอาตายเลยทีเดียว ผืนโลกสะเทือน เกิดแผ่นดินไหว น้ำทะเลบ้าคลั่ง สัตว์น้อยใหญ่ต่างทุกข์ร้อน หนีตายจากภัยคลั่งของศึกพญานาคนี้ แม้แต่เทวดาน้อยใหญ่ยังได้รับความเดือดร้อน เดือดร้อนตั้งแต่ภูมิเทวดาไปจนสวรรค์ชั้นฟ้า


    ในที่สุดความล่วงรู้ไปถึงหู “พระอินทร์” ท่านปกครองสวรรค์ชั้นที่อยู่ใกล้แดนมนุษย์ที่สุด จึงลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตรัสโองการสั่งให้นาคทั้งสองฝ่ายหยุดรบ มิเช่นนั้นจะถูกลงโทษ “พระอินทร์”ห้ามปรามไม่ให้เกิดเรื่องซ้ำสอง โดยตัดสินให้ทั้งสองฝ่ายไม่มีใครเหนือกว่ากัน และสั่งให้ทั้งสองฝ่ายหันมาช่วยกันสร้างแม่น้ำคนละสาย ใครสร้างถึงทะเลก่อนก็จะได้“ปลาบึก” ไปอยู่ในแม่น้ำสายนั้น และยังป้องกันไม่ให้ทะเลาะกันอีกจึงเอาเขาดงพญาไฟเป็นเขตกั้น ห้ามข้ามไปรุกรานกันอีกต่อไป ใครข้ามไปรุกรานราวี ขอให้ไฟจากภูเขาพญาไฟไหม้ฝ่ายนั้น 

        เมื่อ พระอินทร์ตรัสเป็นเทวราชโองการดังกล่าวแล้ว พญาศรีสุทโธจึงพาบริวารไพร่พลอพยพออกจาก หนองกระแส สร้างแม่นํ้ามุ่งไปทางทิศตะวันออกของหนองกระแส เมื่อถึงตรงไหนเป็นภูเขาขวาง อยู่ แม่นํ้าก็จะคดโคงเป็นไปตามภูเขา เพราะพญาศรีสุทโธเป็นนาคใจร้อน แม่นํ้าสายนั้นเรียกว่า “แม่น้ำโขง” คําว่า “โขง” มาจากคาว่า “โค้ง” คือไม่ตรง ส่วนพญาสุวรรณนาคเมื่อได้รับเทวราชโองการดังกล่าว จึงพาบริวารไพร่พลอพยพจากหนองกระแส สร้างแม่นํ้ามุ่งไปทางทิศใต้พญาสุวรรณนาคเป็นนาคที่ใจเย็น พิถีพิถันและตรง การสร้างแม่นํ้าจึงต้องทำให้ตรง แม่นํ้านี้เรียกว่า “แม่นํ้าน่าน” เป็นแม่นํ้าที่ตรงกว่าแม่นํ้าทุกสาย

        การแข่งขันปรากฏว่า แม่นํ้าโขงของพญาศรีสุทโธสร้างเสร็จก่อนจึงเป็นผู้ชนะ  เป็นเหตุให้ปลาบึกอาศัยอยู่ในแม่นํ้าโขงเพียงแห่งเดียวในโลก ตามราชโองการของพระอินทร์ เมื่อพญาศรีสุทโธสร้างแม่นํ้าโขงเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงแผลงฤทธ์ปาฏิหารย์เหาะขึ้นไปเฝ้าพระอินทราธิราชยังดาวดึงส์สวรรค์ ทูลขอต่อพระอินทร์ว่า ตัวเป็นเชื้อพญานาค จะอยู่บนโลกนานเกินไปก็ไม่ได้จึงขอทางขึ้นลงระหว่างเมืองบาดาลกับโลกมนุษยเอาไว้ 3 แห่ง จะโปรดให้ครอบครองอยู่ตรงไหนแน่นอน พระอินทร์ผู้เป็นใหญ่จึงอนุญาต ให้มีช่องทางขึ้นลงของพญานาคเอาไว้ 3 แห่งคือ

        1.ที่ธาตุหลวงนครเวียงจันทน์ 

        2.ที่หนองคันแท 

        3.และที่พรหมประกายโลก หรือคำชะโนด นั่นเอง 

        แห่งที่ 1 และ 2 ให้เป็นทางลงสู่บาดาลของพญานาคเท่านั้น ส่วนแห่งที่ 3 ที่พรหม ประกายโลกเป็นที่ๆ พรหมเทวดาลงมากินดินจนหมดฤทธิ์กลายเป็นมนุษย์ ให้พญาศรีสุทโธไปตั้งบ้านเมืองครอบครองเฝ้าอยู่ให้มีต้นคำชะโนดหรือชะโนดขึ้นเป็นสัญลักษณ์ ระยะเวลา 1 เดือน ทางจันทรคติ ข้างขึ้น 15 วัน ให้พญาศรีสุทโธและบริวารกลายร่างเป็นมนุษยเรียกชื่อว่า เจ้าพ่อพญาศรีสุทโธ และอีก 15 วัน ข้างแรมให้พญาศรีสุทโธและบริวารกลายร่างเป็นนาคเรียกชื่อว่า พญานาคราชศรีสุทโธ 

        ตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงกึ่งพุทธกาล นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2500 ถอยหลังไป พี่น้องชาวบ้านม่วง บ้านเมืองไพร บ้านวังทอง  อําเภอบ้านดุงจังหวัดอุดรธานีจะได้พบเห็นชาวเมืองคำชะโนดทั้งหญิงและชายไปเที่ยวงานบุญประจำปีหรือบุญมหาชาติที่ชาวบ้านเรียกว่า "บุญผเวส" อยู่บ่อยครั้ง แล้วจะเห็นผู้หญิงไปยืมเครื่องมือทอหูก (ฟืม) ไปทอผ้าอยู่เป็นประจํา



        คำชะโนดเป็นสถานที่ลึกลับที่มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพญานาค ผู้คนเชื่อกันว่า ข้างใต้คือวังบาดาล อีกทั้งยังมี ต้นคำชะโนด อันเป็นพืชที่ขึ้นบริเวณป่านี้เท่านั้น “ต้นคำชะโนด” ลักษณะเสมือนเป็นการรวมเอาต้นมะพร้าว ต้นหมาก ต้นตาลมาผสมสายพันธุ์เอาไว้ในสัดส่วนพอๆกันอย่างลงตัว รากต้นไม้ทีขึ้นมาอย่างยาวนานได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเกาะ มีเกาะลอยน้ำที่เต็มไปด้วยรากไม้และเถาวัลย์ดูยุ่งเหยิง




        “คำชะโนด” เสมือนดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ได้รับการปรับปรุงให้คนนอกเดินทางเข้าไปสักการะได้อย่างสะดวก มีผู้คนหลั่งไหลกันเข้ามาบูชา “เจ้าพ่อพญาศรีสุทโธ”กันมาอย่างเนืองแน่นในวันพระและวัน ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 อันตรงกันกับวันวิสาขบูชานั่นเอง

        เมื่อเดินทางมาที่แห่งนี้ หลายคนอาจให้ความรู้สึกได้ถึงความลี้ลับบางอย่างที่สงบเย็นแบบที่ยากจะอธิบาย ด้วยบรรยากาศที่ “เงียบ” และ “เย็น” ปกคลุมด้วยต้นไม้สูงใหญ่ และต้นคำชะโนด บรรยากาศอันสงบลึกลับแห่งนี้ ดึงดูดนักท่องเที่ยว และนักแสวงบุญกันอย่างมากมาย 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้