Funny game for your mobile

แก่งคุดคู้ ตำนานแห่งเชียงคาน

       

"แก่งคุดคู้" เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวฮิตของ อ. เชียงคาน จ. เลย


แก่งคุดคู้ เป็นสถานที่อีกแห่ง ที่เมื่อใครได้มาเยือนเชียงคานทั้งที ก็ต้องไม่พลาด ไม่ว่าคุณจะเป็นสายชิล สายกิน หรือสายชอปปิง บอกได้เลย ณ จุดนี้ เหมาะมาก ทำไมจึงมีชื่อว่า แก่งคุ้ดคู้  มีตำนานสนุกสนาน น่าสนใจไม่น้อยเล่าสืบต่อกันมา 


        ตำนานกล่าวขานไว้ว่า เมื่อนานมาแล้ว มีนายพรานป่าคนหนึ่ง ชื่อ "จึ่งขึ่ง ดั้งแดง" รูปร่างสูงใหญ่ผิดมนุษย์  มีจุดเด่นที่จมูกเป็นสีแดง ไปจนถึงปลายดั้ง ด้วยความใหญ่ปานยักษ์นี้เอง ในยามที่พรานจึ่งขึงนอนหลับ เด็กน้อยก็ได้แอบเข้าไปเล่นกันในจมูกตาได้ ไม่รู้เด็กเล็กผิดมนุษย์หรือพรานเป็นยักษ์กันแน่ มีคำกล่าวที่เป็นภาษาเลยว่า "จึ่งขึ่ง ดั้งแดง นอนตะแคงจุฟ้า เด็กน้อยเล่นสะบ้าอยู่ในฮูดัง  มีฝีมือในการล่าสัตว์ป่า สัตว์น้ำ วันหนึ่งขณะที่นายพรานผู้นี้ล่าสัตว์อยู่นั้น ก็ไปพบควายเงินเข้า  ที่เรียกควายเงินเพราะมูลของควายตัวนี้เป็นเงิน   จึงติดตามควายตัวนี้มาตั้งแต่ หลวงพระบาง (สปป.ลาว) แต่ก็พลาดอยู่เรื่อย เพราะนอกจากมันจะถ่ายเป็นเงินแล้ว ยังมีพละกำลังมาก อยู่ไม่สุข ทำให้กับดักนายพรานใช้ไม่ได้ผล จับไม่ได้สักที จนในที่สุดนายพรานก็ตามรอยมาเรื่อย   ครั้นพอมาถึงริมน้ำโขงเห็นควายเงินพักกินน้ำ อยู่ริมลำธาร นายพรานสบโอกาสที่เฝ้ารอมานานจึงดักซุ่มยิง เกือบจะเล็งได้อยู่แล้วก็บังเอิญมีชาวบ้านแล่นเรือสินค้าผ่านมาจากทางใต้พอดี จึงทำให้ควายเงินตกใจตื่นเตลิดวิ่งขึ้นไปบนเขาอีกลูกหนึ่ง (ปัจจุบันเขาลูกนี้ได้ชื่อว่า "ภูควายเงิน") นายพรานเลยยิงพลาดเป้าไปถูกเขาอีกลูกจนพังทลายไปซีกหนึ่ง เขาลูกนั้นกลายเป็นหน้าผาสูงชัน ชาวบ้านเรียกชื่อมันว่า "ภูผาแบ่น"



        นายพรานเมื่อพลาดที่จะจับเจ้าควายเงิน ก็โกรธชาวบ้านคนนั้น จึงหาทางกลั่นแกล้งด้วยการขนหินมาขวางกั้นลำโขงซะเลย ชาวบ้านก็เดินเรือไม่ได้ ขณะที่นายพรานกำลังขนหินอยู่นั้น  ก็พอดีมีสามเณรรูปหนึ่งผ่านมาเห็นเข้า เกรงว่าชาวบ้านแถบนั้นจะเดือดร้อนก็ห้ามปราม เมื่อห้ามไม่สำเร็จ เณรจึงคิดออกอุบายให้นายพรานใช้ไม้เฮียะ (ไม้ไผ่ชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อผ่าซีกแล้วจะเป็นสันคม) ไปใช้หาบหินแทนจะสะดวกกว่า นายพรานก็เชื่อนำไม้เฮียะทำเป็นคานหาบหิน และด้วยความที่หินหนักมาก เมื่อหามไปคานก็หักในที่สุด เศษไม้ที่หักกลายเป็นปลายแหลม  เศษที่หักนั้นเลยบาดคอ นายพรานที่น่าสงสารตายนอนคุดคู้ อยู่ตรงริมโขงนั้นเอง ชาวบ้านจึงเรียกแก่งหินที่นำมากั้นน้ำไว้ว่า "แก่งคุดคู้" 


อันเป็นผลจากการที่นายพรานขนหินมาวางขวางทำให้กลางน้ำโขง มีหลายแก่งหลายแห่ง มีชื่อเรียกต่างๆ เช่น แก่งฟ้า แก่งจันทร์ เป็นต้น     แม้แก่งเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางในลำน้ำโขงมาแต่โบราณ แต่ก็เป็นบริเวณที่มีปลาเข้ามาอยู่อาศัยอย่างชุกชุม



        เพราะความจริงแล้ว แก่งคุดคู้ แท้จริง ก็คือ แก่งหินขนาดใหญ่ที่อยู่กลางแม่น้ำโขง จึงทำให้บริเวณนั้นมีกระแสน้ำไหลเชี่ยว และเป็นบริเวณที่มีปลาเข้ามาอาศัยอยู่จำนวนมาก ดังนั้นการมาเที่ยวแก่งคุดคู้ ก็ควรรู้ระดับน้ำในแต่ละช่วงด้วยนะ เพราะบรรยากาศในแต่ละช่วงเดือน แตกต่างกัน..

  • ช่วงฤดูแล้ง ประมาณเดือน ก.พ. - พ.ค. ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะลดลงต่ำสุด ทำให้เห็นก้อนหินกลางแก่งรวมถึงหาดทรายโผล่ขึ้นมาอวดสายตานักท่องเที่ยว
  • ช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ประมาณเดือน มิ.ย. - ม.ค. ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะสูง อาจทำให้ไม่เห็นความงามของแก่งได้ชัดเจนนัก แต่ก็ยังชดเชยได้กับภาพสายหมอก และมวลเมฆที่ล่องลอยผ่านยอดเขาตรงหน้า และความสดเขียวของผืนป่าริมฝั่งโขง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้