Funny game for your mobile

“ภูพระบาท” ตำนานรัก “นางอุษา-ท้าวบารส”

 “ภูพระบาท” ตั้งอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี มีสภาพพื้นที่เป็นโขดหินและเพิงหินทรายกระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก นักธรณีวิทยาสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นเองจากฝีมือของธรรมชาติผ่านกาลเวลามานับแสนนับล้านปี จนเกิดเป็นกลุ่มก้อนหินรูปทรงประหลาดบนลานหินกว้างใหญ่ ซึ่งคนสมัยก่อนได้นำมาผูกแต่งเป็นเรื่องราว “ตำนานรักนางอุษา-ท้าวบารส” ที่ท้าวบารสกับนางอุสาแม้จะรักกันอย่างสุดซึ้ง แต่ด้วยอุปสรรคต่างๆ ทำให้นางอุสาตรอมใจกลับไปสิ้นชีวิตบนหอ(หิน)สูงที่ตัวเองอาศัยอยู่


ตำนานมีอยู่ว่า...
       อันว่า“ท้าวกงพาน”หรือ “พระยาพาน”เป็นเจ้าเมืองกงพาน ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ ท้าวกงพาน เป็นผู้ที่มีอิทธิฤทธิ์มาก ส่วนนางอุสานั้นเป็นผู้มีบุญญาธิการ เป็นผู้มีกลิ่นเนื้อหอมและผมหอมอีกด้วย อีกทั้งมีรูปร่างหน้าตาที่สวยงามหาใครเปรียบได้ยาก เมื่อเติบโตเป็นสาว ความงามของนางได้เรื่องลือไปไกล ทำให้มีเจ้าชาย และเจ้าเมือง ต่างเดินทางมาสู่ขอเพื่อไปเป็นคู่ครองของตน
        จน “เจ้าชายไกรลาส” โอรสเจ้าเมือง “หมากแข้ง”หรือเมือง "ภูเงิน"ก็ได้แต่งเครื่องราชบรรณาการและสินสอดอย่างมากมายแต่กลับถูกปฏิเสธกลับไปอย่างไม่ใยดีจากพระยาพานเลย เพราะท้าวกงพานนั้นหวงลูกสาวบุญธรรมคนนี้มาก จึงไม่ยอมยกให้ใครแต่อย่างใด ครั้งหนึ่งมีพระฤาษี ได้ทำนายไว้ว่าบุตรสาวจะมีเคราะห์ อย่างไรก็ดีพระยาพานและพระมเหสีก็ตระหนักได้ถึงคำทำนายของพระฤาษีในกาลโน้นอยู่เสมอ จึงได้หาอุบายเพื่อแก้เคราะห์กรรมนั้น
        พระยาพาน ทรงสร้างหอให้นางอุสาและพี่เลี้ยงกลางป่าเขา เพื่อไม่ให้พบกับผู้ชายคนใดแม้แต่เด็กทารกผู้ชายก็ตาม เพื่อไม่ให้มีเหตุที่ตนจะต้องตาย เพราะว่านางอุสาจะไม่ได้มีสามีนั้นเอง จึงได้ไปสร้างตำหนักบนภูเขา (เขาภูพาน หรือภูพระบาทในปัจจุบัน)


เพื่อให้นางอุสาได้อาศัยหลับนอน (หรือหอนางอุสานั่นเอง) และบอกให้นางอุสาไปร่ำเรียนวิชากับพระฤาษีจันทา ซึ่งพักในอาศรมที่อยู่ไม่ไกลกันนัก ทั้งนี้นางอุสานั้นไม่รู้เหตุจริงๆที่ว่า ทำไม? ตนต้องมาอยู่ในป่าเฉพาะกับพวกผู้หญิง มันทั้งลำบากทั้งขัดสนอีกทั้งยังห่างไกลผู้คน และไม่มีผู้ชายมาข้องแวะเลยแม้แต่คนเดียว
นางอุสาซึ่งอยู่ในช่วงเป็นสาวรุ่น คืนหนึ่งฝันแปลกๆว่ามีพระยางูตัวใหญ่สีเหลืองทองอร่ามมารัดตัวนาง นางตกใจกลัวยิ่งนักจนสะดุ้งตื่นในกลางดึก นางได้แต่เก็บเรื่องเอาไว้ ไม่ได้เล่าความฝันนี้ให้ใครฟัง
        อยู่มาวันหนึ่งนางอุสา และพี่เลี้ยงบริวารทั้งหลาย ได้ไปเล่นน้ำที่ลำธารใกล้ๆกับตำหนัก นางเก็บดอกไม้มาร้อยเป็นมาลัยรูปหงส์ที่สวยงาม นางส่งมาลัยลอยลงแม่น้ำไป พลางอธิษฐานจิตว่า..."หากผู้ใดเป็นเนื้อคู่ของข้า ขอให้ได้พบมาลัยนี้ด้วยเถิด"... พวงมาลัยรูปหงส์นี้ก็ได้ลอยไปลงสู่แม่น้ำโขงถึงหน้า “เมืองปะโคเวียงงัว” โดย "ท้าวบารส"ซึ่งเป็นโอรสแห่งเจ้าเมืองปะโคนั้น เป็นเจ้าชายหนุ่มรูปงามและมีบุญญาธิการมาก         มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้นตอนประสูตินั้นเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ ดอกไม้บานทั้งเมือง พระโอรสจึงได้ชื่อว่า “บารส” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีกลิ่นหอม” นั้นเอง


        คืนก่อนที่มาลัยรูปหงส์จะมาถึงเมืองปะโค ท้าวบารสนอนฝันไปว่า...ได้ไปเล่นน้ำในสระน้ำแห่งหนึ่งที่มีดอกบัวมากมายและดอกบัวเหล่านั้นก็บานไปทั่วสระ มีดอกบัวดอกหนึ่งสุกใสดังดวงแก้ว กลมสว่างนั้นส่องประกายสวยสดงดงามมาก บารสเห็นดังนั้นก็รีบว่ายน้ำเข้าไปหวังอยากได้ดวงแก้วมาครอง พอจับดวงแก้วขึ้นมา ดวงแก้วนั้นก็แตกสลายออกเป็นเสี่ยงๆ ท้าวบารสเสียใจมากจนร้องไห้ออกมา เค้าตกใจสะดุ้งตื่นขึ้นมาทันที...จึงรู้ว่าเป็นเพียงฝัน ท้าวบารสยังรู้สึกเสียดายดวงแก้วนั้น พลันในดวงจิตก็เกิดความกลัดกลุ้มใจด้วยความเสียดายยิ่งนัก จึงชวนบริวารทั้งหลายไปเล่นน้ำที่แม่น้ำโขงบริเวณหน้าเมือง ขณะที่ว่ายน้ำอยู่นั้น ท้าวบารสเห็นมาลัยรูปหงส์ลอยทวนน้ำมาซึ่งน่าแปลกใจมาก ท้าวบารสก็รีบว่ายเข้าไปหาและเก็บมาดู เห็นเป็นมาลัยดอกไม้รูปหงส์ที่สวยงามจริงๆ กลิ่นหอมก็อบอวลชื่นใจ ท้าวบารสจึงสั่งให้คนไปสืบหาเจ้าของมาลัยแต่ก็ไม่มีผู้ใดรู้เลย เขาจึงตัดสินใจออกสืบหาด้วยตนเอง
ขณะที่ท้าวบารสเดินทางตามหาเจ้าของมาลัยไปในที่ต่าง ๆ จนมาถึงเขาภูพาน(ซึ่งก็คือภูพระบาทภูพานคำในปัจจุบันนี้นั้นเอง) ท้าวบารสและบริวารได้ขี่ม้าขึ้นไปบนภูเขา เมื่อไปถึงหินก้อนหนึ่ง ม้าของท้าวบารสกลับหยุดเดิน ไม่ยอมเดินทางต่อ ท้าวบารสจึงขอพักม้าที่หินก้อนนั้น (คอกม้าบารส)


ส่วนบริวารก็แยกกันไปผูกม้าที่ก้อนหินอีกก้อน (คอกม้าน้อย)


ท้าวบารสผูกม้าแล้วก็ออกสำรวจ เดินไปตามหนทางด้วยความอยากรู้อยากเห็น
         ณ.ลำธารแห่งหนึ่ง ท้าวบารสพบกับหญิงสาวที่กำลังเล่นน้ำอยู่ที่ลำธาร ด้วยสัมผัสจากกลิ่นหอมทำให้เขามั่นใจว่าเป็นเธอ ผู้เป็นเจ้าของมาลัยหงส์อันนั้นอย่างแน่นอน เมื่อทั้งสองได้พบกัน ทั้งคู่ต่างตกตะลึงซึ่งกันและกันและเกิดความหวั่นไหวในหัวใจอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ด้วยบุพเพสันนิวาส และความใกล้ชิดจึงเกิดความรักและความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นและลึกซึ้งเกินหักห้ามใจ จนได้เสียและเป็นสามีภรรยากันในที่สุด ทั้งคู่ไม่ปริปากบอกผุู้ใด นางอุสาก็ปกปิดไม่ให้ท้าวกงพานรู้แต่อย่างใด
ในที่สุดความลับแตกขึ้นมาจนได้ เรื่องรู้ไปถึงพระยาพานบิดานางอุสา บิดานั้นกริ้วจัด จึงสั่งให้ทหารมาจับกุมท้าวบารสไปประหาร แต่เสนาอำมาตย์ทั้งหลายต่างก็ห้ามไว้ ด้วยกลัวว่าจะเกิดสงครามระหว่าง “เมืองปะโคริมโขง” กับ “เมืองกงพาน”ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเมืองกงพานแน่เพราะเมืองปะโคเป็นเมืองใหญ่และมีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังมีกำลังพลที่เข้มแข็งทางด้านการเมืองและการสงครามมากนั้นเอง
        อย่างไรก็ดีพระยาพานก็ยังพยายามที่จะหาหนทางกำจัดท้าวบารสให้ได้ จึงทำอุบายว่าให้ท้าพนันแข่งขันกันสร้างวัดในหนึ่งวันให้แล้วเสร็จ โดยนับตั้งแต่เช้าไปจนดาวประกายพรึกหรือดาวประจำเมือง(ดาวศุกร์)ขึ้น ก็ให้ทำการหยุดสร้าง ถือเป็นจบการแข่งขัน หากผู้ใดสร้างไม่เสร็จจะต้องเสียหัว(ถูกฆ่าตัดหัว)แก่อีกฝ่าย ท้าวบารสเลือดกษัตริย์ขัตติยาก็รับท้าพนันนั้น สร้างความหวั่นวิตกให้แก่นางอุสาและพี่เลี้ยงของนางตลอดจนบริวารที่ติดตามท้าวบารสมาเป็นอย่างยิ่ง
        ส่วนพระยาพานนั้นกลับกระหยิ่มในใจว่าตนเองจะต้องเป็นฝ่ายชนะและจะได้ตัดหัวท้าวบารสแน่ๆ จึงเกณฑ์ไพร่พลมามากมายเพื่อมารวมตัวกันสร้างวัดที่เมืองกงพาน(วัดพ่อตา)


ส่วนท้าวบารสกลับไม่มีไพร่พลมาช่วยสร้างเลย นอกจากตัวท้าวบารสเอง กับนางอุสาเมียรัก พี่เลี้ยงนางอุสาและบริวารอีกไม่กี่คนที่มาด้วยกันกับท้าวบารสจากเมืองปะโคเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ดูท่าทางจะสร้างไม่ทันตามกำหนดแน่ๆ
        แต่นางพี่เลี้ยงของนางอุสาเป็นคนเฉลียวฉลาด นางจึงออกอุบายให้ท้าวบารสยกโคม(ขี้ใต้)ขึ้นไปแขวนไว้บนยอดไม้ใหญ่ในเวลาจวนดึกเพื่อแสดงให้เห็นว่าดาวประกายพรึกหรือดาวประจำเมืองขึ้นแล้ว เพราะเมื่อพวกเมืองกงพานมองขึ้นมาก็จะเห็นเป็นดาวประกายพรึก ก็จะพากันหยุดสร้างวัดนั้นเอง และท้าวบารสก็จะได้รีบเร่งสร้างต่อไปจนถึงเช้าคงจะเสร็จทันเวลาเป็นแน่
รุ่งเช้าพระยาพานมาตรวจการก่อสร้าง ก็ปรากฏว่าท้าวบารสสร้างวัด(วัดลูกเขย)ได้สำเร็จ และเสร็จตามสัญญาจริงๆ ฝั่งพระยาพานนั้นกลับสร้างยังไม่เสร็จ ด้วยขัตติยะมานะของกษัตริย์ตรัสแล้วย่อมไม่คืนคำ จึงต้องถูกตัดหัวตามสัญญาในที่สุด(เลือดสีแดงของพระยาพานนั้นกระเด็นติดผนังหินและปรากฏให้เห็นอยู่มาจนถึงทุกวันนี้) จากนั้นทางเมืองกงพานก็ได้สถาปนา “ท้าวพานนา” โอรสของพระยาพานขึ้นเป็นเจ้าเมืองกงพานแทนบิดาต่อไป
หลังจากนั้นท้าวบารสจึงได้พานางอุสากลับเมืองปะโคเวียงงัว เหล่าบรรดาภรรยาและสนมทั้งหลายของท้าวบารสนั้นต่างก็ไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง ทุกคนโกรธและเกลียดนางอุสามาก เมื่อมาถึงท้าวบารสก็ยกให้นางเป็นใหญ่กว่าพวกตน เหล่าบรรดาสนมจึงออกอุบายหาทางทำร้ายและกำจัดนางต่างๆนาๆ โดยคบคิดกับ “โหรหลวง”ให้ตั้งพิธีสะเดาะเคราะห์กรรมของท้าวบารส โหรทำนายว่าท้าวบารสมีเคราะห์ร้ายมากชะตาขาดถึงแก่ชีวิต ต้องออกเดินป่าแต่เพียงผู้เดียวให้ครบหนึ่งปีก่อนจึงจะเข้าเมืองได้ จึงจะพ้นเคราะห์กรรมนั้น
        ท้าวบารสจำต้องออกเดินป่าไปโดยทิ้งนางอุสาไว้ที่เมืองปะโค นางถูกบรรดาภรรยาและสนมของท้าวบารสกลุ้มรุมทำร้ายต่างๆนาๆ และท้าวปะโคบิดาและแม่เมืองมารดาของท้าวบารสก็ไม่ได้ช่วยเหลืออะไรนางได้เลย นางอุสาโศกเศร้าเสียใจหนัก เจ็บทั้งกายเจ็บทั้งใจ และทุกข์ทรมานมากจนทนไม่ไหว นางจึงตัดสินใจพาพี่เลี้ยงกลับเมืองกงพานไปอยู่ที่หอนางอุสาเหมือนเดิม ไม่นานนางก็ล้มป่วยด้วยความตรอมใจและทุกข์ทรมานด้วยความรักและคิดถึงท้าวบารสสามีสุดที่รักของนางนั้นเอง
ส่วนท้าวบารสเมื่อกลับจากเดินป่าครบหนึ่งปีแล้ว เมื่อได้รู้ว่านางอุสาหนีกลับไปเมืองกงพานแล้วก็เสียใจมาก พอสืบทราบความจริงต่างๆ และด้วยความรักและความห่วงหาอาลัย ด้วยความคิดถึงนางจึงรีบรุดตามนางไปที่เมืองกงพานทันที
        เขาได้พบกับนางในสภาพที่น่าสงสาร นางมีรูปร่างผอมแห้ง หมองคล้ำ นางดูไม่สวยงาม และมีสง่าราศีเหมือนแต่ก่อนเลย เพราะกินไม่ได้นอนไม่หลับ เฝ้าแต่คิดถึงแต่สามีมาเป็นเวลานานนับตั้งแต่สามีออกเดินป่านั้นเอง ซึ่งเมื่อนางได้พบหน้าสามีก่อนที่นางกำลังจะสิ้นใจนางมีจิตมีวิญญาณที่สดชื่นดีใจและมีความสุขอย่างยิ่ง ในที่สุดนางก็สิ้นใจในอ้อมกอดของท้าวบารสนั้นเอง
         ฝ่ายท้าวบารสนั้นได้ทำพิธีศพและฝังร่างของนางไว้ที่บนภูพาน (หินก้อนหนึ่งใกล้ ๆ หอนางอุสา เรียกว่า หีบศพอุสา)


ท้าวบารสยังสะเทือนใจและห่วงหาอาลัยในเมียรักที่จากไปยิ่งนัก มันทำให้เขากินไม่ได้นอนไม่หลับ ไม่ยอมกลับไปบ้านเมืองของตน และแล้วก็ตรอมใจตายตามนางไปในที่สุด ณ.เมืองกงพานนั้นเอง นำความโศกเศร้าเสียใจมาสู่ชาวเมืองกงพาน โดยเฉพาะท้าวพานนาและนางสมัญญายิ่งนัก จึงได้ปรึกษาพระฤาษีจันทาและชาวเมือง ซึ่งต่างลงความเห็นว่าให้ฝังศพท้าวบารสไว้ให้อยู่เคียงข้างศพนางอุสานั้นเอง (หินก้อนนั้นชื่อ หีบศพบารส)

        จากโศกนาฏกรรมรักนี้ทำให้สถานที่และก้อนหินรูปร่างต่างๆ บริเวณภูพระบาทมีชื่อเรียกขานเกี่ยวพันกับตำนานรักนางอุสา อาทิ หอนางอุษา คอกม้าท้าวบารส หีบศพนางอุษา หีบศพท้าวบารส บ่อน้ำนางอุษา เป็นต้น ซึ่งด้วยความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ผสมกับความเป็นดินแดนสำคัญทางประวัติศาสตร์ และตำนานโศกนาฏกรรมรักอันสุดคลาสสิคของสถานที่ ทำให้ภูพระบาทได้รับการเสนอชื่อให้เป็นมรดกโลก 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้